ก่อนจะเริ่มจริงจัง ดำดิ่งไปกับบทความนี้ ผมอยากขอเกริ่นนำก่อนว่า ตัวผมเองตอนนี้ ทำงาน Outsource เต็มตัว ครบ 1 เดือนแล้วล่ะ
ผมจึงอยากเขียนบทความนี้ เพื่อแนะนำอะไรเล็กๆ น้อยๆ สำหรับคนที่กำลังตัดสินใจจะลาออกจากงานประจำ เพื่อมาเป็น Outsource ครับ
เข้าเรื่องกันเลยดีกว่า …
ทำไมต้องไปเป็น Outsource ?
เพราะว่า เงินเดือน สูง นั่นเองครับ !!!
ไม่ต้องถามผมนะว่าสูงแค่ไหน เอาเป็นว่า ถ้าคุณเจ๋งจริง ไม่ว่าคุณจะเรียกเงินไปเท่าไหร่ เขาก็กล้าให้ครับ หรือ ถ้าคุณคิดว่า คุณสามารถพัฒนาตัวเองให้เจ๋งได้ แต่อยากเรียกเงินเดือนสูงๆ เผื่อไว้ก่อน ก็ได้เหมือนกันครับ เขาก็กล้าให้คุณเหมือนกัน
*** แต่ถ้าคุณทำไม่ได้อย่างที่พูดไป เงินเดือนคุณก็ลดลงได้เหมือนกัน ***
เพราะฉะนั้น ความเสี่ยงแรก ที่ผมต้องแบกรับไว้เลยก็คือ ผมจะต้องมี Learning Curve ให้สั้นที่สุด เท่าที่จะสั้นได้ ความขยันต้องยืนหนึ่ง ความขี้เกียจต้องกำจัดทิ้งไป
สวัสดิการ Outsource ดีไหม ?
สิ่งแรก ที่ต้องทำความเข้าใจก่อนเลยก็คือ แต่ละบริษัท จะมีสวัสดิการและสิทธิประโยชน์แตกต่างกัน เพราะฉะนั้น ถ้าจะไปสมัครเป็น Outsource บริษัทไหน ก็อยากให้ศึกษารายละเอียดตรงนี้ให้ชัดเจนก่อน
ต้องวางถุงกาว แล้วตั้งสติก่อนว่า ตัวเองมีภาระมากแค่ไหน ถ้ายังต้องพึ่งพาความมั่นคงต่างๆ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันสุขภาพ และสวัสดิการต่างๆ อยู่ อย่าเพิ่งกระดี๊กระด๊า มาเป็น Outsource
คุณรับได้ไหม ถ้าการลาป่วยแบบไม่มีใบรับรองแพทย์ คุณจะต้องถูกหักเงินเดือน ถ้าหากอยากใช้สิทธิ์วันลาและยังได้เงินเดือนปกติ ไม่โดนหักแม้แต่บาทเดียว คุณจะต้องมีใบรับรองแพทย์เสมอ แม้จะป่วยแค่วันเดียวก็ตาม ถ้ายังคิดว่ารับตรงนี้ไม่ได้ ผมแนะนำว่า อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจมาเป็น Outsource
สำหรับตัวผมเอง นี่จึงเป็น ความเสี่ยงที่สองของผม ผมจะไม่มีประกันสุขภาพ ยกเว้นประกันสังคม ที่ยังคงมีอยู่ตามกฏหมาย ซึ่งผมถือว่าโอเค ผมรับได้
โบนัสล่ะ ?
ไม่มีครับ เลิกคิดได้เลย แฮ่ๆ
สวัสดิการอื่นๆ ล่ะ ?
บางบริษัทมีสิ่งที่เรียกว่า เงินเบี้ยขยัน ให้ด้วยนะครับ สำหรับคนที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามันหมายถึงอะไร ผมจะอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ เลยก็คือ ถ้าคุณทำงานแบบไม่ขาด ไม่ลา ไม่มาทำงานสายเลย ใน 1 เดือน คุณจะได้เงินส่วนนี้ทันทีในเดือนถัดไป อย่างไรก็ตาม การเบิกจ่ายเงินส่วนนี้ ขึ้นอยู่กับนโยบายของบริษัทอีกที ต้องสอบถามข้อมูลให้ถี่ถ้วนก่อนเสมอ จะได้วางแผนการใช้เงินได้แม่นยำยิ่งขึ้น
รูปแบบการทำงานของ Outsource ต่างจากงานประจำมากแค่ไหน ?
สำหรับผมนะ ในฐานะที่เป็นโปรแกรมเมอร์คนหนึ่ง รูปแบบการทำงานก็ยังคงต้องนั่งเก้าอี้ทำงาน เหมือนเดิมครับ ไม่มีอะไรพิศดาร ยังไม่ถึงขั้นตีลังกาเขียนโปรแกรม
แต่จะนั่งเก้าอี้ทำงานที่ไหน อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องมาเลือกกันอีกที โดยวิธีการเลือกสถานที่ทำงาน จะมีวิธีการเลือกคร่าวๆ ดังนี้
บริษัทต้นสังกัดเรา จะส่งตัวเราไปสัมภาษณ์ หรือสอบข้อเขียน/สอบปฏิบัติ (ถ้ามี) กับลูกค้าก่อน ซึ่งคำว่าลูกค้า ในที่นี้หมายถึง บริษัทต่างๆ ที่กำลังต้องการพนักงาน เพื่อไปทำงานตามที่เขาได้วางแผนไว้ตาม Road map หรือ Project ต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มบริษัทโทรคมนาคมชั้นนำ กลุ่มสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ เป็นต้น
ลูกค้าจะเป็นผู้เลือก ว่าจะรับเราเข้าไปทำงานหรือไม่ โดยการแจ้งผล จะแจ้งไปที่บริษัทต้นสังกัดเรา หากเราทราบผลจาก ลูกค้าคนไหนก่อน เรามีสิทธิ์เลือกว่าจะรับข้อเสนอ หรือปฏิเสธ ก็ได้
การทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ บางที่จะมีการจ้าง Outsource จากหลาย ๆ บริษัท นั่นหมายความว่า เราจะมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับคนที่มาจากบริษัท Outsource อื่น ๆ และทำงานร่วมกับพนักงานประจำของบริษัทนั้น ๆ ด้วย
ผมเคยตั้งคำถามกับตัวเองนะ ว่าการทำงานจะเป็นยังไง จะกดดันหรือเปล่า ผมหาข้อมูลและนั่งอ่านกระทู้รีวิวจากเว็บบอร์ดชื่อดัง หลายกระทู้เลยล่ะ ก็เลยพอจะมีความรู้สะสมในสมองบ้าง
แต่เชื่อผมเถอะว่า สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น คุณต้องเอาตัวเองไปสัมผัสก่อน แล้วคุณจะรู้ว่า ความจริงแล้ว ความรู้สึกมันเป็นอย่างไร
สำหรับผม วันแรกที่เริ่มทำงาน หัวหน้าก็แนะนำให้รู้จักภาพรวมขององค์กรก่อนเลยครับ ให้รู้จักว่าองค์กรเราทำอะไร และค่านิยมขององค์กรมีอะไรบ้าง จากนั้นก็อธิบายรูปแบบการทำงานของทีม วิธีการวัดและประเมินผลของพนักงาน ทั้งในภาพรวมของทีม และรายบุคคล หลังเสร็จจากแนะนำสิ่งที่ควรต้องรู้แล้ว หัวหน้าก็พาไปเข้าทีมเลยครับ ผมต้องทำงานกับทีมๆ หนึ่ง ซึ่งสมาชิกในทีมประกอบไปด้วย คนที่มาจากบริษัท Outsource อื่น และคนที่เป็นพนักงานประจำอยู่แล้ว
ความเสี่ยงที่สาม มาถึงละครับ นั่นก็คือ การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดนั่นเอง ประการแรกเลย ผมจะต้องเรียนรู้วัฒนธรรมขององค์กร วัฒนธรรมของคนในทีม ลักษณะการใช้ชีวิต การพักกลางวัน การทำกิจกรรมหลังเลิกงาน ทุก ๆ อย่าง เท่าที่ผมจะเรียนรู้ได้ เพื่อปรับตัวเอง อะไรที่เราสามารถทำร่วมกับทีมได้ และทำให้เราสนิทกับคนอื่นเร็วขึ้น ผมก็จะลงมือทำเลย ส่วนอะไรที่ผมรู้สึกว่าไม่สบายใจ ผมก็จะมีวิธีการสื่อสารกับทีม ให้ทีมรับรู้ และเข้าใจให้ตรงกันตั้งแต่แรก ๆ เลย จะได้ไม่มีปัญหากันในภายหลัง
การเป็น Outsource ไม่ว่าคุณจะเปลี่ยนบริษัท ไปทำที่ไหนก็ตาม คุณต้องปรับตัวให้ไว เรียนรู้วัฒนธรรมองค์กร และเพื่อนร่วมงานให้ไว เพราะฉะนั้น ถ้าคิดว่าตัวเอง ยังเป็นคนที่ไม่พร้อมจะเปิดรับกับความเสี่ยงนี้ ผมอาจจะแนะนำว่า อย่าเพิ่งมอง Outsource เป็นทางเลือกแรกครับ
ทีนี้ การปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ประการที่สอง เวลาเข้างานครับ
ตามสัญญาแล้ว เวลาเข้างานและเวลาเลิกงาน จะยึดตามบริษัทลูกค้าเป็นหลัก สำหรับผม เวลาเข้างานปัจจุบันคือ 08:30 น. เลิกงาน 17:30 น.
แต่ตอนทำงานประจำ เข้างาน 10 โมงเช้า เลิกงาน 1 ทุ่ม
บอกได้คำเดียวครับ ปรับตัวยกใหญ่เลยล่ะครับ จากที่ไม่ค่อยได้ตื่นเช้า ทุกวันนี้ ต้องแหกขี้ตาตื่นแต่เช้า โดยเฉพาะเช้าวันจันทร์ รถติดเป็นประเพณีของเส้นวิภาวดีรังสิตเลยล่ะ ยิ่งต้องตื่นตีห้า เพื่อไปทำงานให้ทัน 08:30 น.
ทุกวันนี้ชินแล้วล่ะครับ กับการตื่นเช้า แต่สิ่งหนึ่งที่ผมได้ประโยชน์เต็ม ๆ จากการตื่นเช้าคือ ผมมีเวลาได้ทำอะไรเยอะขึ้น วันไหนผมถึงบริษัทเช้า ๆ ผมจะนั่ง Research เรื่องที่ผมต้องใช้ทำงานใน Sprint นั้น ๆ หลังเลิกงานก็มีเวลาเยอะขึ้น จากที่แต่ก่อน กว่าจะกลับถึงคอนโด ก็ปาไปเกือบห้าทุ่ม ทุกวันนี้ ประมาณหกโมงครึ่ง ก็ถึงคอนโดแล้วครับ รู้สึกได้เวลาชีวิตกลับคืนมาเยอะเลย
เพื่อนร่วมงานเป็นยังไงบ้าง ต่างจากสังคมที่เราจากมาเยอะไหม ?
ก็ถือว่าไม่ต่างกันเยอะมากครับ สำหรับผมเอง ผมถือว่าโชคดีมาก ที่ได้ร่วมงานกับทีมที่ทำงานกันเป็น Team work ทุกคนมีความเป็น Ownership ของสิ่งที่ตัวเองทำร่วมกันสูงมาก และผมมีโอกาสได้สัมผัสช่วงเวลาที่ทีมต้องแก้ไขปัญหาต่าง ๆ หลายปัญหาพร้อมกัน เขาก็แบ่งงานกันทำ และสื่อสารงานกันตลอดเวลา ผมไม่รู้สึกว่า เขาจะมีการแบ่งชนชั้น เหมือนที่ผมอ่านในกระทู้มาเลย และที่สำคัญ ไม่ว่าปัญหาจะเกิดจากอะไร เขาจะรับผิดชอบร่วมกัน และจะช่วยกันแก้ไขให้เสร็จก่อน จากนั้นก็เอามาเป็นบทเรียนในการทำงานครั้งต่อ ๆ ไป ถือว่าเป็นการเรียนรู้ที่ทุกคนพลาดก็พลาดด้วยกัน สำเร็จก็สำเร็จไปด้วยกันอย่างแท้จริง ไม่มีใครเป็นฮีโร่ คนเดียว
ส่วนผมน่ะหรอ เพิ่งเข้ามาช่วงรอยต่อของการปิด Project เก่า และกำลังจะขึ้น Project ใหม่ ผมเลยได้มีโอกาสเรียนรู้วิธีการเขียนโปรแกรมของทีม ว่าสไตล์การเขียน Code ของแต่ละคนเป็นยังไงกันบ้าง และวิธีการรีวิวโค้ดของทีม เขาทำกันอย่างไร
ผมถูกสอนงานด้วยวิธีการที่เรียกว่า Pair Programming นั่นเอง
ผมประทับใจมาก กับการที่ทีมเลือกใช้วิธีนี้ เพราะผมเชื่อว่าวิธีนี้คือการสอนสมาชิกใหม่ ที่เห็นผลลัพธ์ชัดเจนและเร็วที่สุดวิธีหนึ่ง ทุกคนจะเห็นผลลัพธ์ทันที ว่าเรามีพื้นฐานในสิ่งที่กำลังทำอยู่มากน้อยแค่ไหน
ส่วนเรื่องของการขึ้น Project ใหม่ สมาชิกในทีม ก็จะผลัดกันเขียนโปรแกรม ขึ้นจอโปรเจ็กเตอร์ และอธิบายเรียงบรรทัดไปเลย ว่าแต่ละบรรทัด ทำอะไรบ้าง แล้วท้ายที่สุดแล้ว จะได้ผลลัพธ์อะไรจากการ Run คำสั่งนั้น ๆ ซึ่งทุกคนจะมีเวลาคนละ 30 นาที ถือเป็นการเรียนที่ไม่น่าเบื่อเลยทีเดียว
โอกาสโดนเลิกจ้างสูงไหม ?
อันนี้เป็นข้อเท็จจริง ที่มีหลายกระแสมากมายบนโลกออนไลน์ ผมเองก็ตามอ่านจากเว็บบอร์ดชื่อดังมาบ้างประมาณหนึ่ง ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัทด้วยล่ะครับ เพราะการเลิกจ้าง อาจเกิดจาก โครงการที่เราทำงานอยู่สิ้นสุดแล้วตาม Road map ของบริษัท หรือโครงการอาจจะถูกยกเลิก ตามนโยบายใหม่ของบริษัท เป็นต้น ทั้งนี้ บริษัทต้นสังกัด ก็จะรับตัวเรากลับมาครับ แล้วคอยหาบริษัทใหม่ให้เราเข้าไปทำงาน แต่ช่วงที่รอเปลี่ยนงาน ช่วงนี้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ถ้าวางแผนการเงินไม่ดี อาจจะมีปัญหาได้ครับ
ส่วนอีกกรณีหนึ่งที่อาจถูกเลิกจ้างได้ คือผลจากการกระทำของตัวเราเองครับ ถ้าทำกริยาไม่น่ารัก แต่งกายไม่สุภาพ ขาดลามาสายเป็นกิจวัตร ทะเลาะวิวาท มีโอกาสสูงมากครับ ที่ลูกค้าจะส่งตัวกลับมาที่บริษัท และมีโอกาสเสียประวัติการทำงานด้วย ถ้าหากนำไประบุไว้ใน Resume/CV ต่อให้คุณจะเคยผ่านการทำงานกับองค์กรขนาดใหญ่มาก็ตาม คุณก็จะต้องถูกถามอยู่ดีว่าทำไมถึงอยู่ทำโปรเจ็กนี้ไม่เสร็จ หรือทำไม่ครบตามกำหนดเวลา
โอกาสในการพัฒนาตัวเอง มีมากน้อยแค่ไหน ?
สำหรับผมนะ ถ้าแค่ในที่ทำงาน ก็ถือว่ามีโอกาสได้พัฒนาตัวเองเยอะแล้วล่ะครับ ทุกวันนี้เขียนโปรแกรม ต้องเขียน Uni test และ End-to-End Test (E2E) ด้วยเสมอ จนเริ่มติดเป็นนิสัยละ ถ้าลืมเขียน Test เมื่อไหร่ จะเริ่มรู้สึกผิดบาปต่อทีมละ ฮ่าๆ
ส่วนเรื่องการใช้ Git เนื่องจากผมมาจากสาย Windows ก็จะคุ้นชินกับการใช้ Program สำหรับ Commit และ Push Code พอต้องมาทำงานกับทีมที่ใช้ MacBook กันทั้งทีม ก็ต้องปรับตัวเยอะหน่อยครับ ผมก็ต้องเรียนรู้การใช้ git command รวมไปถึง command ต่างๆ ด้วย
นอกจากนั้นแล้ว ถ้าอยากเก่งมากขึ้น บริษัท Outsource แต่ละที่ เขาก็จะมี Class สอนเรื่องต่าง ๆ ที่โปรแกรมเมอร์ต้องใช้ในการทำงาน อาจจะจัดวันเสาร์ อาทิตย์ หรือหลังเลิกงาน อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัทเลยครับ แต่สำหรับบริษัทผมเอง ก็มีอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
ถึงผมจะเพิ่งเริ่มทำงานเป็น Outsource ได้แค่เดือนเดียว ผมก็สามารถบอกตัวเองได้แล้วล่ะครับ ว่าผมเหมาะ หรือไม่เหมาะกับการทำงานแบบนี้ ผมจึงอยากแนะนำว่า ถ้าใครกำลังคิดว่า อยากลองเปลี่ยนจากพนักงานประจำมาเป็นพนักงาน Outsource ก็ลองเปิดโอกาสให้ตัวเองดูครับ
ถ้าเน้นเงินเดือนสูง อยากมีประสบการณ์เยอะขึ้น อยากเก่ง อยากเก็บเงิน เพื่อไปทำอะไรที่คุณฝันไว้ แต่ไม่เน้นเรื่องสวัสดิการ ผมว่าลองเปิดใจทำงานสักเดือนสองเดือน ก็โอเคนะครับ
แต่ถ้ายังติดเรื่องความมั่นคงของหน้าที่การงาน และมีภาระที่ต้องรับผิดชอบหลายอย่าง ผมไม่แนะนำให้เอาชีวิตมาเสี่ยงกับการทำงานเป็น Outsource ครับ
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าเราจะตัดสินใจไปในทิศทางไหน อย่าลืมความเป็นตัวตนและความฝันของตัวเองก็พอครับ อย่าปล่อยให้คนอื่นมาตัดสินว่าเราทำได้หรือทำไม่ได้ เราต่างหาก เป็นคนนิยามสิ่งเหล่านั้นด้วยตัวเอง
ขอบคุณทุกคนที่ติดตามอ่านมาจนจบครับ :)